รู้จัก 3 ระบบ โซล่าร์เซลล์ แบบไหนเหมาะกับใคร
โซล่าร์เซลล์ (Solar Cell) คือ พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด จัดว่าเป็น พลังงานจากธรรมชาติที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว โซล่าร์เซลล์ ยังเป็น “พลังงานทางรอด” ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขวิกฤติพลังงานที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
รูปแบบต่าง ของการนำโซล่าร์เซลล์ ไปผลิตไฟฟ้าใช้งาน
- ระบบอ๊อฟกริด (Off Grid) หรือ แบบอิสระ ( Stand Alone ) คือ ระบบปิด ที่ผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ โดยไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบไฟของการไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เลย ระบบนี้เหมาะกับสถานที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ไม่คุ้มที่จะเดินลากสายไฟยาวๆเข้ามาใช้เนื่องจากต้นทุนสูง
- วิธีการทำงาน คือการนำกระแสไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซล่าร์เซลล์ มาชาร์จเข้าแบตเตอรี่ แล้วจึงนำไฟฟ้าที่ได้มาใช้งาน ซึ่งก็สามารถเลือกว่าจะนำจ่ายไฟ ให้กับอุปกรณ์ ที่ใช้ไฟ AC
- ข้อดีคือ เป็นระบบที่ไม่ต้องง้อไฟจากการไฟฟ้าหลวง สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้
- ข้อเสียคืองบประมาณค่อนข้างสูง เพราะต้องใช้แบตเตอรี่ มาใช้ในการเก็บไฟและต้องคำนวณการใช้ไฟให้ถูกต้อง เพื่อให้การใช้ไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
- ระบบออนกริด ( On Grid ) หรือ แบบเชื่อมต่ออิงกับระบบไฟการไฟฟ้า คือการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ โดยการเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ไปเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ด้วยอุปกรณ์ Inverter จากนั้นก็เชื่อมระบบเข้ากับการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระบบนี้เหมาะกับสถานที่มีไฟฟ้าใช้ ต้องการประหยัดค่าไฟ หรือลดค่าไฟฟ้า และไม่ควรติดตั้งตัวใหญ่เกินการใช้งาน เนื่องจากไฟที่เหลือใช้ จะจ่ายคืนให้กับการไฟฟ้า(นำไปขายให้บ้านอื่น) ทางการไฟฟ้าจะไม่คำนวณเงินคืนให้ แต่จะคิดเงินเฉพาะส่วนที่เราใช้ไฟจากการไฟฟ้า
- วิธีการทำงาน การติดตั้งแบบนี้ เพื่อลดค่าไฟฟ้า โดยเมื่อมีการใช้ไฟ มากกว่าที่ผลิตเองจากโซล่าร์เซลล์ ตัวอุปกรณ์ Grid Tie Inverter ที่เชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าฯ ก็จะทำหน้าที่ดึงกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาใช้งานโดยอัตโนมัติ ดังนั้นจะทำให้ลดค่าไฟฟ้าลงได้และไม่มีข้อจำกัดเรื่องกำลังไฟไม่พอ เพราะดึงจากการไฟฟ้ามาชดเชย แต่การติดตั้งแบบนี้ต้องได้รับการอนุญาตจาก การไฟฟ้าฯก่อน
- ข้อดี สามารถลดค่าไฟฟ้า หรือใช้ไฟฟ้าฟรี (หากใช้แผงโซล่าร์เซลล์จำนวนมาก) เนื่องจากผลิตไฟฟ้าได้เองในตอนกลางวัน ใช้ไฟฟ้าฟรี ลดค่าไฟฟ้าได้ สำหรับผู้ประกอบการติดตั้งระบบไฟขนาดใหญ่ สามารถขายไฟคืนให้กับการไฟฟ้าได้ โดยติดต่อการไฟฟ้า
- ข้อเสีย กรณีที่ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าดับ ระบบโซล่าร์เซลล์ยังจ่ายไฟปกติ แต่กริดไทน์อินเวอร์เตอร์จะหยุดทำงาน โดยไม่จ่ายไฟเข้าสายส่ง เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูดเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ซึ่งกำลังทำการซ่อมระบบสายไฟฟ้า
- ระบบไฮบริดส์ ( Hybrid ) หรือแบบผสม คือระบบที่ทำงานโดยการนำเอาข้อดีของ ระบบออนกริด และ ระบบออฟกริด มารวมไว้ในระบบเดียวกัน ช่วยให้ลดค่าไฟได้ เช่นเดียวกับระบบออนกริด เนื่องจากระบบจะทำการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในช่วงเวลาที่มีแสงอาทิตย์ และ ยังนำไฟฟ้าส่วนหนึ่งไปชาร์จไว้ที่แบตเตอร์รี่ เพื่อเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ได้เช่นเดียวกับระบบออฟกริด ทำให้เรามีไฟฟ้าสำรองเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น ในกรณีที่ไฟฟ้าของการไฟฟ้าดับเราก็จะมีไฟฟ้าส่วนหนึ่งไว้ใช้เพื่อความอุ่นใจ ระยะเวลาของการใช้ไฟฟ้าสำรองนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ปริมาณแบตเตอร์รี่ที่เรามี ว่าเหมาะสมกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ไฟฟ้าดับหรือไม่ ระบบนี้เหมาะกับสถานที่ ที่ต้องการลดค่าไฟฟ้ารายเดือน สถานที่ที่ไฟฟ้าดับบ่อย ไฟไม่นิ่ง ไฟตก ไฟเกินเป็นประจำ
- วิธีการทำงาน คือเมื่อแผงโซล่าร์เซลล์ได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ ก็แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (DC) แล้วส่งต่อมายัง ไฮบริดส์ อินเวอร์เตอร์ ซึ่งไฮบริดส์ อินเวอร์เตอร์ก็แปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ซึ่งก็จะเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟของการไฟฟ้าฯ และอีกขั้วหนึ่งก็ต่อเข้ากับแบตเตอรี่ และอีกขั้วหนึ่งก็ต่อไฟฟ้าไปใช้งานต่างๆ ในเวลากลางวันเมื่อผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ ระบบก็จะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มาจ่ายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน แต่หากกระแสไฟฟ้าที่เราผลิตได้ไม่เพียงพอ ก็จะไปดึงไฟจากแบตเตอรี่ หรือการไฟฟ้าฯมาใช้งานได้ โดยอัตโนมัติ (ซึ่งเราสามารถตั้งค่าได้ที่ตัว ไฮบริดส์ อินเวอร์เตอร์) หรือหากเราผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มามากกว่าที่เราใช้งานระบบก็นำกระแสไฟฟ้านี้ไปชาร์จแบตเตอรี่เพื่อสำรองไฟฟ้าใช้งานต่อไป
- ข้อดี ระบบทำงานได้ทั้งแบบ on-grid และ off-grid สามารถเปลี่ยนแหล่งไฟฟ้าได้เองตามสถานการณ์ ช่วยรักษาความเสถียรของระบบไฟฟ้า และใช้ไฟได้เองภายในกรณีไฟจากการไฟฟ้าดับ
- ข้อเสีย อินเวอร์เตอร์ชนิดนี้มีให้เลือกน้อยมาก และยังไม่ได้รับการยอมรับจากการไฟฟ้า (กฟผ.) เลยไม่สามารถขนานไฟฟ้ากับกริดได้ ไม่สามารถขายไฟคืน กฟผ. ได้ ต้องใช้อุปกรณ์มากเช่นเดียวกับ off-grid ซึ่งทำให้ระบบโดยรวมแพง และไม่คุ้มค่า
อ้างอิงข้อมูลจาก : true ID (www.trueid.net)